วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

นายกยิ่งลักษณ์ ดึง อสม.

“นายกฯยิ่งลักษณ์”ดึงพลังอสม.กว่า 1 ล้านคน เพื่อเป็นกำแพงกั้นยาเสพติดในชุมชน หมู่บ้าน

นายกรัฐมนตรี ดึงพลัง อสม.ทั่วประเทศกว่า 1 ล้านคน ร่วมเป็นพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดในปี 2556  ในหมู่บ้านชุมชน ชี้ขณะนี้มีหมู่บ้านประมาณ 10,000 แห่งมีปัญหายาเสพติดชุก ด้านกระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาขีดความสามารถ อสม. เฝ้าระวังปัญหาทุก 10-15 หลังคนเรือน ติดตามผู้ผ่านการบำบัดในอัตรา 2 คนต่อผู้ป่วย 1 คน ป้องกันไม่หวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก ตั้งเป้าลดอัตราการใช้ยาเสพติดให้เท่าสากลคือไม่เกิน 2 ต่อ 1,000 ประชากร


บ่ายวันนี้ (9 มกราคม 2556) ณ อิมแพคเมืองทองธานี จ.นนทบุรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดประชุมปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพ อสม. ในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายรัฐบาลและการสาธารณสุข “รวมพลัง อสม. คืนหัวใจให้พ่อแม่  คืนลูกหลานสู่อ้อมกอด” เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของ อสม. ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการค้นหาผู้เสพยาเสพติด เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และร่วมติดตามหลังจากผ่านการบำบัดรักษา ไม่ให้หวนกลับไปเสพยาซ้ำอีก พร้อมมอบนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาลแก่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ กทม. และอาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม.รวม 8,300 คน โดยมีนายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข น.ต.นายแพทย์บุญเรือง  ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมต้อนรับ
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อสม. เป็นพลังจิตอาสาที่เดินเคียงข้างประชาชน โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม. ในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข เป็นโครงการที่มีพลัง ซึ่งรัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหายาเสพติด มีการสั่งการให้ทุกฝ่ายช่วยกันกวาดล้าง ลดปัญหาตั้งแต่ต้นทาง และขอให้ถือว่าผู้เสพยาคือบุตรหลาน แต่ที่ผ่านมายังพบว่ามีการกลับมาติดยาซ้ำหลังบำบัดแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้มีโครงการแก้ไขปัญหานี้หลายโครงการ เช่นโครงการชุมชนอุ่นใจ ได้ลูกหลานกลับคืน เสริมสร้างความเข้มแข็งการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน นำร่องแล้ว 12 จังหวัด และรัฐบาลเห็นความเข้มแข็งของอสม. 1 ล้าน 4 หมื่นคน ซึ่งมีความเข้าใจในพื้นที่และงานสาธารณสุข ขอให้ อสม. สอดส่องติดตามผู้เสพในชุมชนให้เข้าสู่กระบวนการบำบัด และติดตามร่วมแก้ไขปัญหาในชุมชนไม่ให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดหวนกลับไปเสพยาอีก ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาถูกทางยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังขอให้ อสม. ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการบูรณาการการแพทย์ฉุกเฉิน 3 กองทุน ซึ่งขณะนี้ได้ขยายไปยังรัฐสิสาหกิจ หน่วยงานรัฐอื่นๆ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ และประชาสัมพันธ์โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ได้มีการปรับปรุงบริการ สามารถเปลี่ยนสิทธิการรักษาได้ปีละ 4 ครั้ง โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ซึ่งพบว่าซื้อยากินเองถึงร้อยละ 72 ขอให้ใช้บริการโครงการ 30 บาท ซึ่งจะทำให้ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
 
ด้านนายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลของ ปปส. พบว่าปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยสูงขึ้นเป็น 3 เท่าตัว   ปัจจุบันคาดว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดประมาณ 1.3 ล้านคน หรืออัตราส่วน 19  ต่อ 1,000 ประชากร โดยมีความชุกมากในพื้นที่ 31 จังหวัด 338 อำเภอ และ 60,584 หมู่บ้านชุมชน จากหมู่บ้านทั้งหมดที่มี 84,302 หมู่บ้านชุมชน โดยมีหมู่บ้านชุมชนร้อยละ 13 หรือประมาณ 10,000 แห่งที่มีปัญหาชุกมาก กลุ่มอายุที่ใช้ยาเสพติดมากที่สุด คือ 15-24 ปี ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้างและว่างงาน จึงกล่าวได้ว่าขณะนี้ยาเสพติดเป็นปัญหาใกล้ตัวทุกคน ผลการบำบัดผู้เสพยาในปีที่ผ่านมาดำเนินการได้ 508,850 ราย เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ 400,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 127
 
 
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ในปี 2556 นี้ ตั้งเป้าบำบัดผู้เสพยาเสพติดรายใหม่ให้ได้ 300,000 ราย พร้อมทั้งจัดระบบติดตามป้องกันไม่ให้ผู้ผ่านการบำบัดแล้วซึ่งมีประมาณ 700,000 คน ไม่ให้กลับไปเสพยาเสพติดอีก เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าอัตราการหวนกลับไปติดยาเสพติดหลังบำบัดสูงถึงร้อยละ 10  ซึ่งสูงกว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึง 5 เท่าตัว จึงต้องเพิ่มกลไกเน้นหนักการป้องกันส่วนนี้มากยิ่งขึ้น และมุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติสู่การรวมพลังในระดับพื้นที่ ให้ชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุก และลูกหลานมีอนาคตที่ดี  โดยรัฐบาลได้เปิดพื้นที่ปฏิบัติการในหมู่บ้านชุมชน ภายใต้บ้านอุ่นใจ “โครงการชุมชนอุ่นใจ ได้ลูกหลานกลับคืน” บูรณาการอย่างเป็นระบบ นำร่องไปแล้ว ใน 10 จังหวัด และจะขยายไปทุกหมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศ
 
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้เพิ่มความเข้มข้นนโยบาย โดยพัฒนาระบบการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล ให้รักษาใกล้บ้าน และพัฒนาศักยภาพ อสม.จำนวน 1,040,000 คน โดยจัดอบรมเพิ่มพูนความรู้และทักษะตั้งแต่การเฝ้าระวัง ค้นหาผู้เสพยาเสพติดในหมู่บ้าน ชุมชน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่อื่นๆ โดยให้อสม.ติดตามดูผู้ที่ผ่านการบำบัดแล้ว ในสัดส่วนอสม. 2 คน ต่อผู้ป่วย 1 คน  และอสม. 1 คนสามารถค้นหาผู้เสพยาเสพติดในทุก 10-15 ครัวเรือน ไปพร้อมๆกับการดูแลด้านสุขภาพ  ซึ่งจะทำให้เป็นชุมชนเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหายาเสพติด  ตั้งเป้าจะลดอัตราผู้เสพยาเสพติดให้เหลือไม่เกิน 2 ต่อ 1,000 ประชากร เท่ากับสากล และอีก 10 ปี คนไทยจะมีสุขภาพดี อายุยืน 80 ปี  สำหรับกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพอสม.ในวันนี้ มีทั้งการบรรยายความรู้เรื่องยาเสพติด นิทรรศการและกิจกรรมฐานการเรียนรู้ การถอดรหัสการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน จำนวน 5 ฐาน คือ 1.ฐานการเฝ้าระวัง ป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน 2.ฐานการค้นหา คัดกรอง บำบัดและติดตาม 3.ฐานการควบคุมตัวยาและสารตั้งต้นยาเสพติด 4.ฐานการตรวจพิสูจน์สารเสพติด และ 5.ฐานการป้องกันลูกหลานจากยาเสพติด
 
***************************  9 มกราคม 2556

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ยาเสพติด

ยาเสพติด
                มีคุณพ่อเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายได้มาหา  และรายงานให้พ่อทราบเกี่ยวกับยาเสพติด  มีสัตบุรุษบางคนค้ายาเสพติด  บางคนเสพยา  จะทำอย่างไรดีเมื่อเขามาวัด  ร่วมพิธีมิสซา  และมารับศีลศักดิ์สิทธิ์
เป็นที่ทราบกันว่า  ยาเสพติดมีผลร้ายต่อผู้เสพ  และการร่วมขบวนการค้ายาเสพติด  เป็นสิ่งผิดกฎหมาย  รัฐบาลทุกสมัยพยายามดำเนินการปราบปรามและป้องกันเยาวชนของเรา  และรณรงค์ทั่วไป  เช่น  รักในหลวง  ห่วงลูกหลาน  ต้านยาเสพติด
สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย  ได้จัดประชุมและออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้  เมื่อวันที่  8  พฤษภาคม  พ.ศ. 2546  ว่า  ในฐานะที่รับผิดชอบด้านการศึกษาอบรม  และการแก้ไขปัญหาของสังคม  พระศาสนจักรจึงสนใจเป็นพิเศษต่อปัญหานี้  และการประกาศเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะร่วมมือกับรัฐบาล  เอาชนะการแพร่ระบาดของยาชนิดนี้
ได้มีข้อเสนอแนวทางในการปฏิบัติแก่ศาสนิกชนคาทอลิกไทย  4  ระดับ คือ  ระดับหมู่บ้านและชุมชน  ระดับวัด  ระดับโรงเรียน  และระดับกรรมการต่างๆ ในสภาพระสังฆราชฯ  เนื่องจากเนื้อที่มีจำกัด  จึงนำมาเสนอ  2  ระดับ  คือ 
1. ระดับหมู่บ้านและชุมชน
    1.1  ขอให้ร่วมกันสร้างหมู่บ้านและชุมชนให้เข้มแข็ง  สามารถป้องกันปัญหายาเสพติดได้  โดยที่ผู้นำชุมชนทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน  ทั้งกับองค์กรภาครัฐในทุกระดับ  เพื่อขจัดการแพร่ระบาดของยาเสพติด
    1.2  ขอให้ผู้นำชุมชนและหมู่บ้านจัดการพบปะเสวนาร่วมกันระหว่างสมาชิก  เพื่อช่วยกันกำหนดยุทธวิธีเอาชนะปัญหา  และติดตามดูแลมิให้สมาชิกในชุมชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกชนิด
    1.3  ขอให้ผู้นำชุมชนและหมู่บ้านได้ต้อนรับและเอาใจใส่ดูแลผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว  ให้มีโอกาสกลับคืนสู่ครอบครัว  ชุมชน  และดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข  เพราะบุคคลเหล่านี้คือพี่น้อง  และลูกหลานของเรา  อีกทั้งเป็นบุตรของพระเจ้า  มีเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน
    1.4  ขอให้ครอบครัวที่มีสมาชิกที่ติดยาเสพติด  ได้ใช้โอกาสนี้กลับเข้าหาพระเจ้า  เชื่อและวางใจในพระเมตตาของพระองค์  โดยเพิ่มความรักและความเข้าใจต่อสมาชิกให้มากขึ้น  เพราะเขาต้องการการให้อภัยและความเห็นใจ  เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังใจให้เขาชนะความอ่อนแอ  จนสามารถเลิกยาเสพติดได้ในที่สุด
    1.5  ขอให้คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อครอบครัว  เป็นเจ้าภาพส่งเสริมและสนับสนุนให้สร้างครอบครัวอาสาสมัคร  เพื่อช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติด  เช่น  การจัดกลุ่มครอบครัวเสวนา  เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์  การอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์  การจัดกิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาและผู้ติดยา  ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพายาเสพติดอีกต่อไป
    2. ระดับวัด
      2.1  ขอให้พระศาสนจักรแต่ละท้องถิ่น  ให้ความสนใจ  ห่วงใยต่อผู้ที่ติดสารเสพติด  โดยเฉพาะยาบ้า  ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง  และหากมีพี่น้องคริสตชนของเราเข้าไปเกี่ยวข้อง  ขอให้ช่วยเหลือพวกเขาอย่างเหมาะสม
      2.2  ขอให้พระสงฆ์  นักบวช  ในฐานะที่เป็นผู้นำในระดับวัด  ได้ดูแลเอาใจใส่  และเทศน์สอนเรื่องพิษภัยของยาเสพติดให้แก่คริสตชน  เพื่อหาแนวทางป้องกันในรูปแบบต่างๆ เช่น  จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านสิ่งเสพติดทุกชนิด, การฟื้นฟูจิตใจ  เป็นต้น
      2.3  ขอให้พระศาสนจักรแต่ละท้องถิ่น  จัดให้มีผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติดในชุมชนวัด  และให้สมาชิกสภาอภิบาลของวัดเป็นแกนนำ  เพราะเป็นผู้รู้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนและหมู่บ้านของตน
      2.4  ในกรณีที่คริสตชนเป็นผู้ค้ายาเสพติด  หรือเป็นมือปืนรับจ้างฆ่า  ไม่มีการกลับใจอย่างชัดเจนและแท้จริงก่อนเสียชีวิต  ให้งดการประกอบพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณปลงศพแก่บุคคลดังกล่าว
      3. ระดับโรงเรียน
        3.1  โรงเรียนคาทอลิกทั่วประเทศ  จะต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด  เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกัน  ในการดำเนินนโยบายป้องกันปัญหายาเสพติด  โดยใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่  พร้อมทั้งร่วมใจกับรัฐบาลที่กำหนดโครงการต่างๆ เช่น  “โรงเรียนสีขาว”  ของกระทรวงศึกษาธิการ  และ “โครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ”  ของกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานด้านเอาชนะปัญหายาเสพติด
        3.2  นอกจากกิจกรรมที่กระทรวงฯ เสนอแนะแล้ว  ผู้บริหารโรงเรียนคาทอลิก  ควรสนับสนุนให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาดูงาน  และสัมผัสเกี่ยวกับเรื่องการบำบัดผู้ติดยาเสพติด  หรือผู้ที่ต้องโทษเพราะคดียาเสพติด  เพื่อจะได้มีโอกาสเห็นและพูดคุยกับบุคคลเหล่านั้น  หรือจัดการรณรงค์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น  ค่ายจริยธรรม  ค่ายยุวธรรมทูต  วาย.ซี.เอส  พลศีล  เป็นต้น
        4. ระดับคณะกรรมการฯ ต่างๆ ในสภาพระสังฆราชฯ
          4.1  ให้กรรมาธิการฝ่ายสังคมรับผิดชอบจัดทำแผนต่อเนื่อง  เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งเสพติด  โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  (ป.ป.ส.)  กระทรวงยุติธรรม  และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง  อีกทั้งให้คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาเป็นผู้ประสานงานกับท้องถิ่น  ที่มีศูนย์สังคมพัฒนาทำงานกับชุมชนในแต่ละสังฆมณฑล
          4.2  ให้กรรมาธิการฝ่ายสังคมเป็นผู้จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลตัวอย่างดีๆ ของบุคคลในหมู่บ้าน/ชุมชน  เพื่อเป็นบทเรียนที่เป็นรูปธรรมแก่ผู้สนใจแก้ไขปัญหายาเสพติด
          4.3  ให้ทุกคณะกรรมการฯ ภายใต้สภาพระสังฆราชฯ ได้ร่วมมือรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคณะกรรมการฯ  ในประเด็นเรื่องสิ่งเสพติดนี้อย่างจริงจัง  และเกิดผล
          สำหรับในเขตวัดนั้นๆ คุณพ่อเจ้าอาวาสได้ประกาศกับคริสตชนด้วยว่า
          1. สำหรับผู้ค้ายาเสพติด  ห้ามเข้าวัดและรับศีลมหาสนิท
          2. สำหรับผู้เสพ  เข้าวัดได้แต่ห้ามรับศีลมหาสนิท
          จำเป็นที่เราต้องร่วมมือกันเพื่อความมั่นคงของประเทศ  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน  ที่เป็นกำลังสำคัญของชาติครับ
          อ้างอืงจาก

          วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

          ปัญหายาเสพติด...ปัญหาระดับรากหญ้า...สู่ความมั่นคงของชาติ

          ในขณะที่หลายคนกำลังให้ความสำคัญกับปัญหาการเมืองไทแต่ปัญหาอีกประการที่หลายคนละเลยไปที่สร้างความรุนแรงในสังคมไม่แพ้ปัญหาการเมืองไทย นั่นก็คือ ปัญหายาเสพติด ปัญหายาเสพติดนับเป็นปัญหาสังคมที่มีความร้ายแรงระดับชาติ  ทุกสังคมชุมชนต่างได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติดในทุกวันนี้     คนจำนวนมากกำลังเผชิญกับปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดในสังคมไทย แม้จะได้มีมาตรการป้องกันและปราบปรามผู้ลักลอบจำหน่ายและเสพยาเสพติด  แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดยาเสพติดให้หมดไปได้  เนื่องจากเป็นขบวนการที่มีความซับซ้อน  นับวันปัญหายาเสพติดยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

          กล่าวได้ว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญยิ่งของประเทศไทย  เนื่องจากเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาอื่น ๆ มากมายในประเทศ  ปัญหายาเสพติดในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงและขยายตัวมากขึ้นจากผลของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ส่งผลให้โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ขาดพลังและขาดความสมดุลในการพัฒนา  สถาบันหลักทางสังคมหลายสถาบันเกิดความอ่อนแอ เป็นช่องว่างทำให้ปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น  ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดไม่ว่าจะเป็นนายทุนผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้า และส่งออกยาเสพติด อาศัยผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำยาเสพติดทั้งที่มีอยู่เดิมและชนิดใหม่เข้ามา เผยแพร่ในหมู่ประชาชนในแต่ละกลุ่มซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

          ยาเสพติดเป็นปัญหาที่ เป็นภัยคุกคาม กัดกร่อน บ่อนทำลาย” ประเทศไทยส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งต่อปัจเจกบุคคล และสังคมส่วนรวมในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

          ผลกระทบต่อตัวบุคคล ยาเสพติดทุกชนิด จะมีผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะด้านบุคลิกภาพและสุขภาพอนมัย ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

          ผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชนและสังคม ครอบครัวที่มีผู้ติดยา มักได้รับความเดือดร้อนจากผู้ติดยาในทุกด้าน นำไปสู่ความยุ่งยาก ขัดแย้ง แตกแยก และสิ้นเปลืองในการแก้ปัญหา ผู้ติดยามักก่อให้เกิดอาชญากรรมต่อเนื่อง ตั้งแต่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับแหล่งอยายมุข การลักเล็กขโมยน้อย การประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สิน การพนันและอาชญากรรมต่าง ๆ สำหรับผู้ค้าและหรือผู้เสพซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว เมื่อถูกจับกุมและดำเนินการทางกฎหมาย จะส่งผลกระทบให้สมาชิกภายในครอบครัวได้รับความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่อยู่ภายใต้การปกครองจะต้องออกจากโรงเรียน ซึ่งเป็นการทำลายอนาคตของประเทศชาติ  

          ผลกระทบต่อการบริหารจัดการภาครัฐ คดียาเสพติดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นภาระต่องานด้านกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่เพิ่มสูง และทำให้การดำเนินคดีด้านอื่น ๆ เกิดความล่าช้า นอกจากนี้ ปัญหายาเสพติดได้ก่อให้เกิดการทุจริต คอรัปชั่น โดยเฉพาะการทุจริตต่อหน้าที่ การรับสินบน การกลั่นแกล้งรีดไถ แสวงหาผลประโยชน์จากผู้กระทำความผิดซึ่งทำให้ประชาชนและสังคมเกิดความไม่ศรัทธาและเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

          ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ  การผลิตและการค้ายาเสพติด จัดเป็นกลุ่มธุรกิจ และเศรษฐกิจนอกกฎหมายที่ไม่ก่อให้เกิดการผลิต แม้ว่าการค้ายาเสพติดบางส่วนจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้เมื่อมีการค้าขาย แต่ก็เป็นรายได้สำหรับคนบางกลุ่มที่กระทำผิดกฎหมายและเอารัดเอาเปรียบสังคม  ปัญหายาเสพติดทำให้รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนมาก เพื่อใช้ในการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษาและฟื้นฟู แทนที่จะนำไปใช้ในการด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็น ต้องสูญเสียทรัพยากรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยไม่จำเป็น รวมทั้งกระทบต่อทรัพยากรมนุษย์ เพราะยาเสพติดมีส่วนทำลายพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสมองของเด็กและเยาวชน และแรงงานที่จะเป็นพลังของประเทศไทยในอนาคต

          ผลกระทบต่อความมั่นคงและชื่อเสียงของประเทศ สาเหตุเนื่องจากปัญหายาเสพติดได้ส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อบ้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิตยาเสพติด การแพร่ระบาดของยาเสพติด จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทยไม่เป็นที่ไว้วางใจของนานาชาติในด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้ไม่กล้าเข้ามาท่องเที่ยวหรือลงทุนทางการค้า และธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ประเทศคู่แข่งฉวยโอกาสในการโจมตีประเทศไทย

          มาตรการสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ บทบาทของสถาบันทางสังคมไทยในระดับรากหญ้า ซึ่งประกอบด้วย สถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน สถาบันโรงเรียน และสถาบันศาสนา เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหา

                         ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ ดังนั้นการป้องกัน และแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงมิใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์การใดองค์กรหนึ่ง แต่หากเป็นหน้าที่ของทุกคนในชาติที่จะต้องร่วมมือ ร่วมใจกันป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากแผ่นดินไทยก่อนที่ชาติไทยจะตกเป็นทาสของ ยาเสพติด






          โดย วิ่งกระเตงฟัด
          อ้างอิงจาก 
          http://www.oknation.net/blog/print.php?id=350940